การขยายเชื้อไตรโคเดอม่า
ข้าว(แข็ง)3ถ้วย 3:2 น้ำสะอาด2ถ้วย
หรือ5:3ก็ได้ บางท่านแนะนำผมอีกว่า 3:1 แต่ผมคิดว่าข้าวคงไม่สุกแน่ๆครับ ขณะที่เค้าว่าworkครับ
จริงข้าวจะกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือดิบมากกว่าสุกครับ
หุงด้วยหม้อไฟฟ้าง่ายที่สุด ใส่ข้าวใส่น้ำกดปุ่ม รอเด้งครับ ไม่ต้องซาวน้ำ แต่ถ้าจะซาวก็ได้ น้ำที่เทออกเท่าไหร่ ก็เติมเข้าเท่านั้นครับ
หุงด้วยเตาแกส หม้อธรรมดา ใส่น้ำเข้าหม้อตั้งไฟ พอน้ำเริ่มมีฟองผุดพอสมควรประมาณ70-80องศา ก็ใส่ข้าวสาร หรี่ไฟให้อ่อนๆ เกือบสุด คนข้าวนิดหน่อยให้ข้าวโดนน้ำทั่วๆ แล้วปิดฝาหม้อ 3-4นาที คนข้าวไม่ให้ติดก้นหม้อ 7-10นาทีน้ำจะงวดเกือบแห้งก็เสร็จ
คตข้าวใส่ถุง2พัพพีเต็มๆใส่ถุงร้อน8*12" หรือ9*14" ไล่ลมในถุงออกแล้วเอาไว้ในกระติก เพื่อรักษาอุณหภูมิในร้อนนานๆ จะเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่ถุง 2-3ชั่วโมง เอาข้าวออกมาผึ่งเพื่อลดอุณหภูมิ ให้เหลือประมาณ40-50องศาก็ใส่หัวเชื้อ3-4หยด
ตอนใส่อย่าเปิดปากถุงกว้างเกินไป เปิดแค่พอหยดหัวเชื้อได้เท่านั้น พับปากถุงแล้วใช้แม็กเย็บ หากใช้ยางรัดต้องรัดแน่นๆ ถ้าไม่แน่นแมลงหวี่จะเข้าไปในถุงได้ เขย่าถุงให้หัวเชื้อกระจายตัวทั่วๆ แล้วเอาเข็มหมุดแทงที่ด้านบน30รู ประมาณ15ครั้ง วางถุงแบนในที่มีแสงอ่อนๆ12ชม./วัน ใช้แสงจากหลอดไฟก็ได้ ห้ามโดนแดด 2วันต่อมาเขย่าถุงเพื่อกระจายเชื้ออีกครั้ง
การเพาะเชื้อ ต้องให้เกิดจำนวน สปอร์สูงที่่สุด ความชื้นต้องไม่มากเกินไป หากมีความชื้นมากไป จำนวนสปอร์จะน้อย ความชื้นที่ดีจะทำให้ข้าวถูกเชื้อรากินหมด และเปลี่ยนเป็นสปอร์ แสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสปอร์
การทำแห้ง โดยนำเข้าตู้อบไล่ความชื้น แบบควบคุมอุณหภูมิ
เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)
เชื้อราปฏิปักษ์
เชื้อราปฏิปักษ์ หมายถึงเชื้อราที่มีความสามารถในการต่อสู้กับศัตรูพืชได้ ซึ่งมีหลายประเภท คือ เชื้อราที่ต่อสู้กับแมลง โดยสามารถเข้าทำลายแมลง หรือเชื้อราที่เข้าทำลายเชื้อราก่อโรคในพืชหลายชนิด เช่น เชื้อราโรคเหี่ยว เป็นต้น
โรครากและโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราเป็นโรคที่พบได้บ่อยในการปลูกมะเขือม่วง การนำเชื้อราปฏิปักษ์มาใช้จะช่วยควบคุมโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงต่อผลผลิตและเกษตรกร เชื้อราปฏิปักษ์ที่รู้จักกันดีคือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มายังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค
จากผลการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึงปัจจุบัน สามารถคัดเลือกเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากดินในธรรมชาติได้หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ CB-Pin-01 มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคของพืชเศรษฐกิจต่างๆทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดได้ในสภาพแปลงเกษตรกร ทั้งโรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน เช่น โรคเมล็ดเน่า โรคเน่าระดับดิน (โรคกล้ายุบ) รากเน่า หัวหรือแง่งเน่า และโคนเน่า เป็นต้น โรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กิ่ง ผล ใบ หรือดอก เช่น โรคลำต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง โรคแคงเกอร์ของมะนาว โรคราดำของมะเขือเทศ โรคใบปื้นเหลืองและโรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคแอนแทรคโนสของมะม่วงและพริกทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าของพืชผักสลัดและ ผักกินใบต่างๆที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร (ระบบไฮโดรโพนิกส์) และจากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าการแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนใช้หว่านลงในนาข้าว ช่วยลดการเกิดโรคเมล็ดด่าง เมล็ดลีบ ของข้าวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด ตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์และน้ำหนักเมล็ด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ด้วย
กลไกในการต่อสู้กับเชื้อสาเหตุโรคพืช อยู่ 4 ประการ คือ
1. การแข่งขันกับเชื้อโรคพืช ด้วยเหตุที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญสร้างเส้นใยได้รวดเร็ว สามารถสร้างสปอร์ได้ในปริมาณสูงมาก โดยอาศัยอาหารจากเศษวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ จึงช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถแข่งขันกับเชื้อโรคพืชหรือจุลินทรีย์ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน
2. การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วสามารถพันรัด แล้วแทงส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชทำให้เส้นใยตาย
3. การสร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถสร้างปฏิชีวนสาร สารพิษ และน้ำย่อย (เอนไซน์) เพื่อหยุดยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้
4. การชักนำให้พืชมีความต้านทานโรค เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถชักนำให้พืชสร้างกระบวนการผลิตสาร ประเภทเอนไซม์หรือโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรคได้
ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. ช่วยลดกิจกรรมของเชื้อโรคพืชได้ ยับยั้งและทำลายการงอกของสปอร์ แข่งขันการใช้อาหารเพื่อการเจริญของเส้นใยเชื้อโรคพืช รบกวนกิจกรรมต่าง ๆ ของเชื้อโรคทำให้ความรุนแรงลดลง
2. ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคพืช ทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชโดยการพันรัดและแทง ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคสร้างขึ้นสำหรับการขยายพันธุ์ ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคพืชสร้างขึ้นเพื่ออยู่ข้ามฤดูกาล
3. ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตของพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันระบบรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อรา สาเหตุโรคพืช ทำให้ระบบรากพืชสมบูรณ์แข็งแรง เชื้อราไตรโคเดอร์มาผลิตสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยให้เมล็ดงอกและเจริญเติบโตดี
4. ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคของพืช กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรคขึ้นภายในพืช พืชที่มีระบบรากดี เจริญเติบโตดี แข็งแรง จึงต้านทานโรคได้ดีขึ้น
การควบคุมราที่ทำให้เกิดโรคของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า
1. สามารถควบคุมราที่ทำให้เกิดโรคพืชได้หลายชนิดเช่น เชื้อราพิเทียม ทำให้เกิดรากเน่า โคนเน่า โรคยอกเน่าของต้นกล้าในพืชไร่
2. เชื้อราไฟท็อบเทอร่า ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล
3. เชื้อสคลอโรเทียม ทำให้เกิดโรคกล้าไหม้ ราเม็ดผักกาด โรคเหี่ยวในพืชผัก
4. เชื้อราฟิวซาเรียม ทำให้เกิดโรคเหี่ยวในไม้ดอก
5. เชอราไรซ็อกโตเนีย ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน
การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา
การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อขยายและเพิ่มปริมาณสามารถดำเนินการได้โดย 2 กระบวนการ คือ
1. กระบวนการหมักอาหารเหลว ( liquid substrate fermentation ) โดยใช้อาหารในรูปของเหลว เช่น กากน้ำตาลหรือโมลาส หรืออาหารเหลวสังเคราะห์ที่มีการเติมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญของเชื้อ ไตรโคเดอร์มา
2. กระบวนการหมักอาหารแข็ง ( soild substrate fermentation ) โดยใช้อาหารที่เป็นของแข็ง เช่น เมล็ดพืช เมล็ดธัญญพืช ตลอดจนวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ ทั้งประเภทที่ยังเป็นเมล็ดอยู่ หรือที่บดเป็นผงละเอียดแล้ว
เชื้อสดหรือมวลชีวภาพของเชื้อที่ได้ จากกระบวนการผลิตสามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่ถ้าต้องการเก็บรักษาเชื้อราไตรโคเดอร์มาไว้เป็นเวลานาน ต้องนำเชื้อสดที่ได้มาผลิตให้อยู่ในรูปสูตรสำเร็จชนิดต่าง ๆ โดยนำเชื้อสดผสมผงสารพา เช่น ผงไดอะตอมไมท์ ซีโอไลท์ฯ แล้วทำให้เชื้ออยู่ในสภาพที่แห้ง สปอร์ของเชื้อหยุดการเจริญ และเข้าสู่ระยะพักตัว
สูตรสำเร็จของชีวภัณฑ์
1. ชนิดผงแห้ง ( powder ) ได้จากการผสมเชื้อสดกับผงสารพาต่าง ๆ เช่น ไดอะตอมเซียสเอิร์ท เวอร์มิคูไลท์ ไพโรฟิลไลท์ หรือผงดินเหนียว เป็นต้น จากนั้นจึงนำไปตากหรืออบให้แห้งที่อุณหภูมิไม่สูงนัก ก่อนบดเป็นผงละเอียด
2. ชนิดเม็ด ( pellet ) ได้จากการใช้สารโพลีเมอร์อินทรีย์บางชนิด เช่น อัลจิเนท โพลีอะครีลาไมด์ หรือคาราจีแนน ห่อหุ้มเม็ดเชื้อ หรือการใช้เชื้อเคลือบบนผิวของสารพาบางชนิด
3. ชนิดเกล็ด ( granule ) ได้จากการใช้สปอร์ของเชื้อสดผสมกับสารพาที่ละลายน้ำได้ดี หรือแขวนลอยดี ตกตะกอนช้า ทำให้อยู่ในรูปเกล็ดแห้ง
4. ชนิดเชื้อสด ( fresh culture ) ได้จากเชื้อสดที่เลี้ยงบนอาหารแข็งเช่น บนเมล็ดข้างฟ่าง จนได้ สปอร์สีเขียวเข้มปริมาณมาก ซึ่งต้องนำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็น 5-10 องศาเซลเซียสได้ไม่เกิน 30 วัน
ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา รูปแบบที่นิยมผลิตเป็นการค้า คือ ชนิดผงแห้ง ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน คือ บริษัท ยูนิซีดส์ จำกัด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิต ชีวภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า คือ "ยูนิกรีน ยูเอ็น-1" และ"ยูนิเซฟ" สำหรับบริษัทเอกชนที่พัฒนาการผลิตชีวภัณฑ์ด้วยตนเอง คือ บริษัทแอพพลายเค็ม จำกัด ผลิตชีวภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า "ไตรซาน" ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติวัตถุ อันตราย พ.ศ. 2535 เรียบร้อยแล้ว
วิธีการเลี้ยง เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าบริสุทธิ์
สูตรอาหาร PDA
1. มันฝรั่ง 200 กรัม
2. น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
3. วุ้น 17 กรัม
4. น้ำกลั่น 1,000 กรัม
วิธีการเตรียมอาหาร
1. หั่นมันฝรั่งเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มในน้ำ 500 ซีซี พร้อมใส่น้ำตาลลงไปต้มด้วยเมื่อสุกแล้วจึงกรองเอาเฉพาะน้ำ
2. นำวุ้นไปต้มกับน้ำในส่วนที่เหลือ คนให้ทั่ว เมื่อวุ้นสุกดีแล้วนำน้ำมันฝรั่งที่ได้ มาเทและคนให้เข้ากัน
3. ยกลงจากเตาแล้วเติมน้ำที่ขาดหายไปจนครบ 1000 ซีซี
4. เทอาหารที่ได้ลงในขวดแบนประมาณ 80 ซีซี จะได้ประมาณ8-10ขวด ปิดปากขวดด้วยสำลีห่อทับด้วยกระดาษฟร์อย
5. นำขวดอาหารไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่ ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว นาน 20 นาที
6. นำขวดอาหารที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว มาทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำไปเขี่ยเชื้อ
7. หลังเขี่ยเชื้อแล้วเก็บไว้ 7-10 วัน ก็สามารถนำไปเป็นแม่เชื้อได้
ขั้นตอนและวิธีการผลิตเชื้อราจากแม่เชื้อ
1. แช่เมล็ดข้าวฟ่างในนำสะอาด 1 คืน
2. เทเมล็ดข้าวฟ่างลงบนตะแกรงเพื่อผึ่งให้แห้ง
3. กรอกเมล็ดข้าวฟ่างลงในถุงพลาสติกถุงละ 300 กรัม
4. นำข้าวฟ่างไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่ ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว นาน 30 นาที
5. ทิ้งไว้ให้เย็น จึงนำไปเขี่ยเชื้อโดยเขี่ยเชื้อจากขวดแม่เชื้อบริสุทธิ์ใส่ในถุงข้าวฟ่างชิ้นละถุง(ขนาด 1x1cm )
6. เก็บถุงข้าวฟ่างที่เขี่ยเชื้อแล้วไว้ในห้องเย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศา หลังจากนั้น 3 วัน เชื้อราจะเริ่มเจริญเป็นเส้นใยสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวภายใน 7 วัน พร้อมที่จะนำไปใช้ได้
วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างง่าย
วัสดุและอุปกรณ์
1. หัวเชื้อไตรโคเดอร์มาผง
2. ปลายข้าวสารประมาณ 6-10 กิโลกรัม
3. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
4. ถุงพลาสติกใสชนิดทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว
5. ยางรัดปากถุง
6. สำลีและแอลกอฮอล์
วิธีการ
1. หุงปลายข้าวสารด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใช้ปลายข้าว 3 ส่วน : น้ำสะอาด 2 ส่วนให้สุกประมาณ 90% อย่าให้สุกมากเกินไปเพราะจะทำให้ข้าวแฉะ
2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดช้อนตัก พื้นโต๊ะบริเวณที่จะทำการถ่ายเชื้อให้สะอาด และใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดมือผู้ที่จะทำการถ่ายเชื้อด้วย เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่โดยรอบไม่ให้ปนเปื้อน
3. ตักใส่ถุงพลาสติกทนร้อน ประมาณ 200-250 กรัม ข้อพึ่งระวัง ให้ตักข้าวในขณะที่ยังร้อนอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยทำลายจุลินทรีย์อื่นๆจากอากาศที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในถุง ข้าวด้วย นั่นก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถรักษาเชื้อสดที่ต้องการนี้ไว้ได้นานนัก
4. กดข้าว (ที่อยู่ในถุงพลาสติกแล้ว) ให้แบน รีดเอาอากาศออกจากถุง ให้ถุงพลาสติกแนบกับข้าว เพื่อลดการเกิดหยดน้ำ (ในถุงพลาสติก) แล้วก็รอให้ข้าวอุ่นหรือเกือบเย็น จึงจะนำไปใส่หัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา)
5. ตักหัวเชื้อไตรโคเดอร์มาผง ประมาณ ครึ่งช้อนโต๊ะ (1-1.5 กรัม) ใส่ในถุงพลาสติกที่บรรจุข้าวไว้แล้ว และรัดปากถุงด้วยยางรัดให้แน่น ขยำข้าวกับเชื้อเข้าด้วยกันเบาๆ อย่าให้เม็ดข้าวถูกบี้จนเละ เพราะต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อการเดินของเส้นใยเชื้อราจะง่ายขึ้น (ขั้นตอนการถ่ายหัวเชื้อนี้ต้องเลือกสถานที่ที่สะอาดและต้องระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากสิ่งแวดล้อม)
6. รวบถุงให้บริเวณปากถุงพองแล้วใช้ปลายเข็มแทงถุงพลาสติกบริเวณรอบๆปากถุงที่รัดยางเอาไว้ ประมาณ 20 – 30 รู เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้ทั่วถุง
7. กดข้าวในถุงให้แน่นให้แผ่กระจายและแบนราบ แล้วดึงบริเวณกลางถุงขึ้นเพื่อเพิ่มอากาศ ข้อระวังในขั้นตอนนี้คือ ไม่ควรวางถุงซ้อนทับกัน
8. บ่มเชื้อในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และปลอดภัยจากแมลงและมดรับแสงธรรมชาติ อย่างน้อย 10 – 12 ช.ม./วัน ข้อแนะนำ ในการบ่มเชื้อควรวางถุงเชื้อในบริเวณที่ได้รับแสงสว่างจากหลอดไฟฟลูออเรส เซนต์ หรือหลอดนีออน โดยให้แสงสว่างนาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน หรือ ตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้ เพื่อกระตุ้นการสร้างสปอร์ของเชื้อ เชื้อที่ขึ้นดีจะมีสีเขียวเข้ม
9. เมื่อบ่มเชื้อได้ 2 วัน จะเห็นเส้นใยของเชื้อราเริ่มเจริญ ให้ขยำข้าวในถุงเบา ๆ กดข้าวให้ แบนราบเช่นเดิม แล้วดึงกลางถุงให้โป่งขึ้นด้วย
10. บ่มต่ออีก 4 – 5 วัน จะเห็นเชื้อสีเขียวอย่างหนาแน่น
11. นำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิอยู่ในช่วงระหว่าง 8 – 10 องศาเซลเซียส ข้อระวังในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บเชื้อที่ไม่ควรเก็บทิ้งไว้นาน เป็นแรมเดือน
การนำเชื้อราไตรโครเดอร์มาไปใช้ มีหลักการที่ว่า นำเชื้อราที่เพาะบ่มเอาไว้แล้วนั้นไปผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักจึงกลายเป็นอาหารของเชื้อราไปด้วยในตัว เชื้อราจะแผ่เชื้อในปุ๋ยหมักไปด้วย จากนั้นจึงนำปุ๋ยหมักไปใส่ดินในแปลงเพาะปลูกตามปกติ ดินที่ได้รับทั้งปุ๋ยหมักและเชื้อราไตรโครเดอร์มาก็ยิ่งทำให้ดินดีอุดมสมบูรณ์
วิธีการนำไปใช้
การใช้ราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์
ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกเก่า)ในอัตราส่วน1:4:100โดยน้ำหนักโดย
- เติมรำข้าวเล็กน้อยลงไปในถุงเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด คลุกเคล้าและบีบให้เชื้อที่เกาะเป็นก้อนแตกออก ต่อจากนั้นจึงเทเชื้อที่คลุกรำข้าวแล้วผสมกับรำข้าวที่เหลือให้ครบตามจำนวน แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง
- นำหัวเชื้อสดที่ผสมกับรำข้าว(อัตราส่วน 1:4โดยน้ำหนัก) ผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก100กิโลกรัม คลุกเคล้าจนเข้ากันอย่างทั่วถึง อาจพรมน้ำพอชื้นเพื่อลดการฟุ้งกระจาย
เมื่อได้ส่วนผสมของเชื้อสดกับปุ๋ยอินทรีย์แล้วสามารถนำไปใช้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การผสมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าในกระบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด ผสมดินปลูกอัตรา 1:4 โดยปริมาตร(20%)นำดินปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุง หรือกระถางปลูก
2. การใส่หลุมปลูกพืช
- ใช้ส่วนผสมของเชื้อสด อัตรา 10-20กรัม(1-2ช้อนแกง) ต่อหลุม โรยในหลุมก่อนการหยอดเมล็ดพืช
- ใช้ส่วนผสมของเชื้อสดอัตรา10-20กรัมคลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ถ้าหลุมใหญ่อาจใช้50-100กรัม/หลุม
3. การใช้เชื้อหว่านในแปลงปลูก
หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูกก่อนการปลูกพืช 1 สัปดาห์ ด้วยอัตรา 50-100กรัมต่อตารางเมตร หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูก ขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต และกำลังมีโรคระบาด ด้วยอัตรา 50-100ต่อตารางเมตร หรือคราดเศษวัชพืชมากองรอบๆ ชายพุ่ม ถ้าดินแห้งให้รดน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นแต่อย่าให้แฉะ โรยส่วนผสมรอบทรงพุ่มในอัตราส่วน 3-5 กก. ต่อต้นหรือโรยให้ทั่วรอบๆลำต้น คลุมด้วยใบไม้แห้ง ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน เชื้อราจะเจริญเป็นเส้นใยสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวภายใน 5-7 วัน
4. การใช้เชื้อหว่านใต้ทรงพุ่มหรือโรยโคนต้นพืช
หว่านส่วนผสมเชื้อสดทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่มอัตรา 50-100กรัมต่อตารางเมตร หรือโรยส่วนผสมเชื้อสด บริเวณโคนต้นพืชกรณีที่เกิดโรคโคนเน่า ด้วยอัตรา10-20กรัมต่อต้น
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดคลุกเมล็ดพืช
ใส่เชื้อสดลงในถุงพลาสติกที่จะใช้คลุกเมล็ดอัตรา 10 กรัม (1ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี บีบเชื้อสดให้แตกตัวเทเมล็ด 1 กิโลกรัมลงในถุงแล้วเขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดออกผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกได้ทันที
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับน้ำ
ในกรณีที่ไม่สะดวกในการจัดหาปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และรำข้าวหรือกรณีที่ต้องการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดินโดยไม่ประสงค์จะใส่ ปุ๋ยอินทรีย์และรำข้าวลงไปในดินด้วย เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำ ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ 250 กรัม(เชื้อสด 1 ถุง)ต่อน้ำ 50ลิตรใช้น้ำเชื้อที่เตรียมได้ฉีดพ่นลงดินด้วยอัตรา 10-20 ลิตรต่อ100 ตารางเมตรสำหรับขั้นตอนการใช้เชื้อสดผสมน้ำมีดังนี้
• นำเชื้อสดมา 1 ถุง(250กรัม) เติมน้ำลงไปในถุง 300มิลลิลิตร(ซีซี)หรือพอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำ เชื้อสีเขียวเข้ม
• กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่งจนเชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด เติมน้ำให้ครบ 50 ลิตร ก่อนนำไปใช้
1. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในกระบะเพาะกล้า กระถาง หรือถุงปลูกพืช
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนกระบะเพาะหลังจาดหยอดเมล็ดแล้วหรือในระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในถุงหรือกระถางปลูกพืช ตั้งแต่เริ่มปลูกหรือในระหว่างที่พืชกำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
2. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืช
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังจากเพาะเมล็ดแล้ว โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชื้น
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังย้ายพืชลงปลูกแล้ว โดยฉีดให้ดินเปียกชื้น
3. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูกพืช
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงพืชหลังจากหว่านเมล็ด และคลุมแปลงด้วยฟางแล้วในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร และให้น้ำแก่พืชทันที
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูก อัตรา 10-20 ลิตร/100ตารางเมตร ก่อนคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ
• กรณีที่พืชกำลังเจริญเติบโตอยู่ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลง ในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
4. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดโคนต้นพืชและใต้ทรงพุ่ม
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงตรงโคนต้นพืช และบนดินบริเวณรอบโคนต้นพืช โดยให้ผิวดินเปียกชื้น
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนดิน ใต้บริเวณใต้ทรงพุ่มและขอบชายพุ่ม ให้ดินพอเปียกชื้น
5. แช่เมล็ดข้าวก่อนหว่าน เชื้อรา 1 ถุง สามารถนำไปแช่เมล็ดข้าวได้ 10 ถัง โดยนำเชื้อราไปขยี้กับน้ำผสมลงไปในน้ำแช่ข้าว แช่ไว้ 1 คืน แบ่งข้าวใส่กระสอบปิดปากถุง เอาไว้อีก 1 คืน สามารถนำไปหว่านได้
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมผู้ใช้เชื้อสดควรระลึกไว้เสมอว่า การใช้เชื้อสดใส่ลงไปในดินที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญและการ เพิ่มปริมาณเชื้อ เช่น ดินเป็นกรดจัดหรือด่างจัด เกินไป ดินมีความเค็มสูง โครงสร้างของดินหรือเนื้อดินมีลักษณะแน่นทึบ การระบายอากาศและความชื้นไม่ดี ดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำ อาจทำให้การใช้เชื้อสดไม่ประสบผลสำเร็จได้ สำหรับข้อควรระวังต่าง ๆ ในการใช้เชื้อสดนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นมีดังนี้
1. ควรฉีดพ่นน้ำเชื้อสดในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็น กรณีที่บริเวณซึ่งจะฉีดพ่นไม่มีร่มเงาจากพืชเลย ควรใช้วัสดุอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหว่านปกคลุมผิวดิน
2. ไม่ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ในบริเวณที่แฉะ แต่ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นเชื้อแห้งมาก ควรให้น้ำพอให้ดินมีความชื้นเสียก่อน หรือให้น้ำทันทีหลังฉีดพ่น เพื่อให้น้ำพอเชื้อซึมลงดิน
3. ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่เหมาะกับการใช้ผสมเชื้อราไตร โคเดอร์มาชนิดสด ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมักโดยสมบูรณ์แล้ว ( เย็นแล้ว ) หรือเป็นปุ๋ยที่กองทิ้งไว้จนเก่าแล้ว ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย
4. ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิดคลุกเคล้าหรือผสมร่วมกับเชื้อสดเพื่อใช้พร้อมกันทีเดียว
5. กรณีที่ต้องการผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับปุ๋ยอินทรีย์-เคมี ( ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผสมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ) ทั้งชนิดผงหรือชนิดอัดเม็ด ให้ผสมได้ แต่ต้องหว่านทันทีที่ผสมเสร็จ ห้ามผสมแล้วเก็บไว้ในกระสอบ หรือกองไว้ เพราะเชื้อราไตรโคเดอร์มาอาจได้รับอันตรายจากปุ๋ยเคมี
6. เมื่อผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับรำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ให้ใช้หว่านทันที ห้ามบรรจุลงในกระสอบหรือกองทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดความร้อนในกองปุ๋ย เป็นอันตรายต่อเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ ดังนั้นจึงควรเตรียมส่วนผสมของเชื้อสด รำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์ให้พอใช้ในแต่ละครั้ง
7. ถ้าผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับปุ๋ยอินทรีย์ ( เก่าหรือหมักดีแล้ว ) โดยไม่ใส่รำข้าว สามารถเก็บปุ๋ยไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน โดยใส่กระสอบหรือกองไว้ในที่ร่มและเย็น และควรคลุมด้วยพลาสติกหรือกระสอบ เพื่อรักษาความชื้นในเนื้อปุ๋ยเอาไว้ให้อยู่ที่ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์
8. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่ใส่รำข้าว เมื่อใช้หว่านลงดินจะได้ปริมาณเชื้อน้อยกว่ากรณีที่ใช้รำข้าวผสมด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่าเชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่มีรำข้าวมีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้เช่น กัน
9. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ก่อนหรือหลังการหว่านปุ๋ยเคมี 3-5 วัน
10. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหลังหว่านปูนโดโลไมท์ ปูนขาว หรือสารปรับสภาพดินไปแล้ว 5-7 วัน
11. pH ของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไตรโคเดอร์มา อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 คือเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งเป็นช่วง pH ที่พืชปลูกส่วนใหญ่ เจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการวัด pH ของดิน และปรับให้เหมาะสมก่อน
12. เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราชั้น สูง จึงถูกทำลายได้ด้วยสารเคมีที่ใช้ในการป้องกัน และกำจัดเชื้อราชั้นสูงโดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่มเบนซิมิดาโซล (benzimidazole) ได้แก่ เบนโนมิล (benomyl) และคาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึม หากจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมี ควรจะทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์เป็น อย่างต่ำ
13. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อ เนื่อง เช่น ใช้ก่อนปลูกพืชรุ่นใหม่ทุกครั้ง ในกรณีของการปลูกพืช ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชไร่ หรือใช้อย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ต้นฝน และปลายฝน ห่างกัน 6 เดือน ในกรณีของไม้ผลยืนต้น (ใช้บ่อย ๆ ไม่มีอันตรายต่อพืช) ถ้าอาหาร สภาพแวดล้อม และปัจจัย อื่น ๆ ในดินไม่เหมาะสม เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะหยุดการเจริญเติบโต หรือเมื่อเชื้อโรคลดปริมาณลง เชื้อไตรโครเดอร์ม่าที่จะลดปริมาณลงตามไปด้วย จนอยู่ในสภาพสมดุลของธรรมชาติ หากดินมีความชื้นและอินทรียวัตถุอย่างพอเพียง ไตรโครเดอร์ม่าก็จะยังคงมีชีวิตอยู่ในดินได้ต่อไป แต่หากดินขาดอาหารและความชื้นเมื่อใด เชื้อก็จะตายลงในที่สุด
14. ควรใช้เศษหญ้า เศษใบไม้ หรือวัสดุต่าง ๆ คลุมผิวดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินไว้ ซึ่งจะช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญได้ดี และมีชีวิตอยู่รอดในดินได้นานยิ่งขึ้น
15. ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือวัสดุอินทรีย์ลงดินเป็นระยะ ๆ โดยแบ่งใส่ทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับเชื้อราไตรโคเดอร์มา และเพื่อช่วยปรับสภาพแวดล้อมในดินให้เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
16. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่ผสมรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์หว่านลง ดินในช่วงของการเตรียมดินก่อนการปลูกพืช และใช้น้ำเชื้อสดฉีดพ่นลงดินบนแปลงปลูกหรือรอบโคนต้น หรือใต้ทรงพุ่มในระยะที่พืชกำลังเจริญเติบโตต่อเนื่องเป็นระยะๆ
17. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดเก็บรักษาได้ไม่นาน และมีประสิทธิภาพควบคุมโรคสูงกว่าการใช้เชื้อในรูปผงแห้ง
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. ปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินมีหน่วยวัดเป็น หน่วยโคโลนี / กรัม เช่น ตรวจพบเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดิน 105 หน่วยโคโลนี / กรัม หมายความว่าในดิน หนัก 1 กรัม มีปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ 100,000 หน่วยชีวิต ( สปอร์ ) ที่จะเจริญเป็นเส้นใยได้
2. เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ใส่ลงดินแล้ว จะมีชีวิตอยู่รอดได้นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ดินร่วนซุยดี มีอินทรีย์วัตถุสูง มีใบไม้/เศษพืชปกคลุมดินเสมอ เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะอยู่รอดโดยมีปริมาณสูงได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี
3. เชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ได้ในดินลึกกว่า 30 เซนติเมตรจากผิวดิน แต่จะเจริญสร้างเส้นใยเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคพืชได้ดีในความลึกช่วง 5 - 10 เซนติเมตร จากผิวดิน
4. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาติดต่อกันนานหลายปีไม่ทำให้เชื้อโรคพืชเกิดความ ต้านทานได้ แต่กลับเป็นผลดี คือ จะช่วยป้องกันโรคพืชได้อย่างต่อเนื่อง
5. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพียง 1 สายพันธุ์ไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหลายสายพันธุ์ร่วมกัน
6. เชื้อราไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูก และสภาพแวดล้อม
7. การต่อเชื้อไตรโคเดอร์มาบ่อย ๆ อาจเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่เจริญได้ไม่ดี สร้างเส้นใยแต่ไม่สร้างสปอร์สีเขียว และไม่มีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้
8. กรณีที่พืชแสดงอาการของโรคขั้นรุนแรง ควรใช้สารเคมี เช่น เมทาแลกซิล โฟซีทิลอัล ( อาลีเอท ) กรดฟอสโฟนิค ( โฟลีอาร์ฟอส ) แมนโคเซบฯ ร่วมด้วยได้ ถ้าจะใช้สารกลุ่มเบโนมิล หรือคาร์เบนดาซิมควรใช้ก่อนหรือหลังใส่เชื้อไตรโคเดอร์มา 7 วัน
9. สามารถใช้สารเคมีควบคุมแมลงศัตรูพืช สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมี ได้ตามปกติในระหว่างการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา แต่ห้ามผสมเชื้อกับสารเคมี
10. ถ้าดินปลูกพืชเป็นกรดจัด คือ ค่าพีเอชต่ำ ( 3.5-4.5 ) จำเป็นต้องปรับค่าพีเอสให้มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 - 6.5 ก่อนการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
11. เชื้อราไตรโคเดอร์มาพบได้ในดินเกษตรกรรมทั้งไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกเชื้อหรือทุกสายพันธุ์นั้นจะมีประสิทธิภาพในการควบ คุมโรคได้ ต้องผ่านการวิจัยทดสอบเสียก่อน
แหล่งเชื้อพันธุ์
1. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดเชียงใหม่
2. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดชัยนาท
3. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดชลบุรี
4. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดนครราชสีมา
5. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดพิษณุโลก
6. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดขอนแก่น
7. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี
8. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสงขลา
9. ชมรมส่งเสริมความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร 68/97 ม.5 ซ.นนทบุรี 42 ถนนสนามบินน้ำ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร. 02-580-6356
10. ห้องปฏิบัติการ ควบคุมโรคพืชโดยชีวภาพ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140 โทรศัพท์ 034-281047 หรือ 02-9428200-45 ต่อ 3413, 3406 หรือ 3405
ที่มา
1. http://hcsupply.blogspot.com/2008/09/blog-post_17.html
2. http://gotoknow.org/blog/thaikm/500
3. http://bbznet.pukpik.com/scripts2/view.php?user=kasetshow&board=2&id=100&c=1&order=numreply
4. http://www.geocities.com/psplant/work01index.htm
5. http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=696&s=tblrice
6. http://gotoknow.org/blog/nonghin/239346
7. http://www.weloveshopping.com/template/a13/show_article.php?shopid=127087&qid=46540
8. http://siweb.dss.go.th/qa/search/search_description.asp?QA_ID=303
9. http://it.doa.go.th/durian/detail.php?id=171&PHPSESSID=8d10e14145fef553520b764615aca684
10. http://www.phtnet.org/news/view-news.asp?nID=177
11. รูปภาพ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pum-karb&date=12-07-2009&group=7&gblog=13
12. http://www.rdi.ku.ac.th/kufair50/plant/68_plant/68_plant.html
13. http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2008/08/J6861266/J6861266.html
14. http://www.bio-agri.com/beauveria/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B2.html